ชวนรู้จัก 5 เคล็ดลับบริหารเงินหลังเกษียณให้มีเงินใช้

เคล็ดลับบริหารเงินหลังเกษียณ - Money Adwise

ผู้เขียน จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ CFP®

ถึงจะเกษียณอายุแต่ก็มีเงินใช้ เพียงบริหารเงินหลังเกษียณให้ถูกวิธี ใช้ชีวิตได้คล่องตัวแน่นอน!

การเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพต้องเริ่มจากการ “ดูแลสุขภาพ” ควบคู่ไปกับ “การวางแผนการเงินที่รอบคอบ” ตั้งแต่ยังทำงานอยู่ แต่สำหรับหลาย ๆ คนแล้ว การเกษียณอายุอาจดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว เพราะยังมองไม่เห็นภาพว่าจะสามารถบริหารจัดการด้านการเงินให้ลงตัวได้อย่างไร เมื่อไม่ได้มีรายรับจากการทำงานเข้ามาแล้ว อย่างไรก็ดี หากใครที่กำลังเริ่มวางแผนปลดตัวเองออกจากการทำงานประจำอยู่ หรือเข้าใกล้วัยที่ต้องเริ่มเกษียณอายุ แต่ยังไม่รู้ว่าควรจะบริหารเงินหลังเกษียณอย่างไรให้มีเงินใช้ไม่ขาดมือ แถมยังมีเหลือเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินด้วยล่ะก็ วันนี้เราอยากขอเวลาคุณสัก 5 นาทีเพื่อมาทำความเข้าใจกับ 5 เคล็ดลับ การบริหารด้านการเงินเมื่อต้องเกษียณอายุตามแบบฉบับนักวางแผนการเงินกัน

เคล็ดลับที่ 1 :  อย่าเพิ่งต่อยอดเงิน! มาดู “รายจ่าย” ก่อน

เพราะ “รายจ่าย” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนไม่ยอมวางแผนเกษียณตัวเอง จนสุดท้ายมารู้ตัวอีกทีก็สูญเสียเวลาไปกับการทำงาน และไม่ได้วางแผนการเงินใด ๆ เอาไว้ ดังนั้น เพื่อที่จะสามารถวางแผนบริหารเงินหลังเกษียณได้อย่างไม่ต้องกังวลถึงสภาพคล่องทางการเงินมากนัก เรามาทำความเข้าใจประเภทของรายจ่ายที่จำเป็นกันก่อน โดยจะมีรายละเอียด ดังนี้

1. หนี้สิน 

หนี้สินถือเป็นรายจ่ายชิ้นใหญ่ในชีวิตของใครหลายคน ซึ่งหากใครเริ่มที่จะวางแผนเกษียณแล้ว อย่าลืมพิจารณาถึงแนวทางการชำระหนี้ที่ถูกต้องด้วย เช่น หากเป็นหนี้สินบ้านก็อย่าลืมพิจารณาเรื่องการรีไฟแนนซ์เพื่อลดดอกเบี้ยและเงินต้น เป็นต้น

2. รายจ่ายทั่วไป 

ไม่ว่าจะเกษียณอายุหรือไม่ รายจ่ายก็เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยรายจ่ายทั่วไปนี้ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ภายในบ้านอย่างค่าแม่บ้านหรือค่าดูแลส่วนอื่น ๆ ด้วย

3. รายจ่ายเพื่อดูแลสุขภาพ

รองจากหนี้สินแล้ว ปัญหาสุขภาพถือเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น หากคุณเริ่มมีสุขภาพที่อ่อนแอ ดังนั้น เพื่อให้สามารถบริหารเงินหลังเกษียณได้อย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนสุขภาพผ่านประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และการดูแลสุขภาพก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลงได้

4. รายจ่ายอื่น ๆ 

เพราะส่วนหนึ่งของชีวิตคือการพักผ่อน และเพื่อเติมชีวิตให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น การวางแผนเกษียณเองก็ควรคำนึงถึงรายจ่ายเพื่อความบันเทิง อย่างค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังควรวางแผนบริหารเงินหลังเกษียณให้ดีเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายอย่างการซ่อมแซมบ้าน รถยนต์ หรือส่วนอื่น ๆ ภายในที่อยู่อาศัยหากเกิดการทรุดโทรมลงด้วย 

หากเราบริหารค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้ลงตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยลดโอกาสในการควักเงินเก็บและเงินสำรองฉุกเฉินออกมาใช้ได้ ซึ่งหากใครอยากรู้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดคร่าว ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเก็บเงินใช้หลังเกษียณก็สามารถคำนวณได้ง่าย ๆ ตามสูตรนี้

ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ = รายจ่ายต่อปีเฉลี่ย x 80% x จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่

ตัวอย่างเช่น

นาย Money อายุ 35 ปี มีรายจ่ายรวมภาระผ่อนชำระหนี้สินทั้งหมดอยู่ที่ 600,000 บาท หรือเฉลี่ยตกเดือนละ 50,000 บาท หากต้องการเกษียณอายุตอนนี้ และคาดว่าจะมีอายุถึง 75 ปี นาย Money จะต้องมีเงินอย่างน้อย 80% ของรายจ่ายเฉลี่ยในปัจจุบันของตัวเอง ดังนั้นหากเข้าสูตรคำนวณแล้วก็จะได้ว่า

ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของนาย Money = 600,000 x 80% x 40 

= 19,200,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20,000,000 ล้านบาท

เคล็ดลับที่ 2 :  มองหาแหล่ง ‘รายได้’ ประจำ

เมื่อทราบรายจ่ายคร่าว ๆ ที่ต้องมีเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างสบายแล้ว การบริหารเงินหลังเกษียณที่มีประสิทธิภาพยังต้องคำนึงถึง ‘รายได้’ ด้วยเช่นกัน เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ หลายคงสงสัยว่า เอ…เกษียณแล้วยังต้องทำงานเพื่อหารายได้อยู่หรือเปล่า คำตอบคือ รายได้หลังเกษียณนั้นไม่ได้มาจากการทำงาน แต่จะมาใน 2 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 : รายได้ประจำ

รายได้ประจำ คือ รายได้ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลารายเดือนหรือปี เช่น เงินบำนาญ รายได้จากอสังหาริมทรัพย์อย่างการปล่อยเช่าบ้านและคอนโด รายได้จากอาชีพเสริม ตลอดจนรายได้จากการลงทุน เช่น เงินปันผล และ ดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นต้น โดยเงินรายได้ประจำนี้ควรจะนำไปหมุนจ่ายเป็นค่าใช่จ่ายที่คำนวณไว้ หากเหลือก็ให้เก็บเข้าธนาคาร หรือหาแนวทางการลงทุนเพื่อต่อยอด

รูปแบบที่ 2 : เงินก้อน หรือ รายได้ครั้งคราว

รายได้ครั้งคราวส่วนใหญ่จะเป็นเงินก้อนที่ไม่ได้ประจำ เช่น เงินบำเหน็จ เงินครบประกันชีวิต เงินจากกองทุนรวมอย่าง RMF เป็นต้น และเพื่อบริหารเงินหลังเกษียณให้มีประสิทธิภาพ เราจึงควรนำเงินก้อนในส่วนนี้ไปเก็บเพื่อสำรองเป็นเงินฉุกเฉิน หรือแบ่งส่วนหนึ่งมาเพื่อลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่รับความเสี่ยงไหว

เคล็ดลับที่ 3 :  วางแผนจัดการรายจ่ายทั้งหมด

เมื่อรู้รายจ่าย และช่องทางการสร้างรายได้ประจำเพื่อเกษียณอย่างมีคุณภาพแล้ว ขั้นตอนนี้จะเป็นการบริหารรายจ่ายอย่างเป็นระบบ โดยการบริหารเงินในส่วนนี้สามารถเริ่มทำง่าย ๆ โดยการทำบันทึกรายรับ - รายจ่ายเป็นประจำเพื่อทราบถึงรายได้ รายจ่าย ตลอดจนพฤติกรรมการใช้เงินของเรา ซึ่งจะทำให้เราเห็นรายการค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากมีรายการไหนที่คุณคิดว่ายังไม่จำเป็น ก็ให้ตัดออกไป และนำเงินมาหมุนเวียนเรื่องอื่น ๆ หรือนำเงินไปออมแทน 

นอกจากการบริหารรายรับและรายจ่ายทั่วไปแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องบริหารเงินหลังเกษียณให้ดีก็คือ ‘ภาระหนี้สิน’ ซึ่งก่อนเกษียณอายุสัก 10 ปี เราต้องเริ่มสำรวจภาระหนี้สินทั้งหมดในมือตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ ไปจนถึงหนี้บัตรเครดิต จากนั้นจึงเริ่มตั้งเป้าหมายในการชำระหนี้สินให้ครบอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อการใช้ชีวิตก่อนเกษียณที่ไม่กดดัน และเพื่อชีวิตหลังเกษียณที่สุขสบาย

บริหารเงินเก็บเพื่อวางแผนเกษียณ - Money Adwise

เคล็ดลับที่ 4 :  บริหารเงินเก็บให้ดี

การเก็บเงินในธนาคารเป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างน้อยก็มีดอกเบี้ยประจำให้เงินงอกเงย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การฝากเงินกับธนาคารยังต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขการฝากเงิน ดอกเบี้ย และเศรษฐกิจของประเทศร่วมกันด้วย เพราะลองคิดดูง่าย ๆ หากเราเลือกฝากเงินกับธนาคารแบบระยะยาว การถอนเงินออกมาใช้ก่อนเพราะเหตุจำเป็นก็อาจทำให้ไม่ได้ดอกเบี้ยพิเศษ อีกทั้งดอกเบี้ยเงินฝากประจำก็อาจไม่เพียงพอหากต้องการเงินสำรองฉุกเฉินที่เพิ่มขึ้น 

ที่สำคัญ หากเศรษฐกิจของโลกและไทยเข้าสู่ภาวะคับขัน เกิดเหตุเงินเฟ้อขึ้นมา เงินที่อยู่ในธนาคารก็จะมีมูลค่าลดลง และดอกเบี้ยจากธนาคารก็จะหักลบออกจนเหลือดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ไม่สูงมากอีกด้วย ดังนั้น หากต้องการบริหารเงินหลังเกษียณอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าลืมพิจารณาและวางแผนการบริหารเงินเก็บเพื่อเป็นเงินสำรองฉุกเฉินกันด้วย 

เคล็ดลับที่ 5 :  แบ่งลงทุนอย่างเข้าใจ

สุดท้าย เมื่อพิจารณาถึงรายรับ รายจ่าย และเงินสำรองฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว การบริหารเงินหลังเกษียณยังครอบคลุมไปถึงการแบ่งลงทุนเพื่อต่อยอดเงินไปอีกขั้นด้วย โดยขั้นพื้นฐานแล้ว เราสามารถแบ่งเงินสำหรับลงทุนออกเป็น 3 ระยะ ที่จะประกอบไปด้วย

ลงทุนระยะสั้น

เป็นการลงทุนที่เน้นสภาพคล่องเป็นหลัก มีอายุการลงทุนในช่วง 1 - 3 ปี อาจเลือกลงทุนผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่ำจนถึงปานกลางเพื่อให้มีผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอ หรือหากมีประสบการณ์ลงทุนก็สามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงสูงขึ้นได้ และนำผลตอบแทนนี้มาใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ ได้เช่นกัน

ลงทุนระยะกลาง

เป็นการลงทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในอนาคต หรือค่าใช้จ่ายระยะยาว อาทิ การซ่อมแซมบ้าน การวางแผนรักษาโรคเรื้อรัง ตลอดจนการวางแผนซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยการลงทุนประเภทนี้จะมีอายุ 3 - 7 ปี และควรเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีผลตอบแทนและเงินปันผลเพื่อนำมาเงินมาเก็บไว้

ลงทุนระยะยาว

เป็นการลงทุนที่ใช้ระยะเวลานานกว่า 7 ปีขึ้นไป สามารถเก็บไว้ใช้เป็นเงินมรดกและเพื่อเป็นทรัพย์สินให้กับลูกหลานได้ ดังนั้น เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาว เราจึงควรเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนที่สามารถชนะเงินเฟ้อได้ และเพื่อนำผลตอบแทนมาบริหารใช้จ่ายในชีวิตประจำวันควบคู่ไปกับการลงทุนระยะสั้นได้

เพราะก้าวแรกที่ถูกต้องจะนำไปสู่การเดินทางที่มั่นคง และเพื่อเริ่มสตาร์ทก้าวแรกของวางแผนการเกษียณอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ Money Adwise หวังเป็นอย่างยิ่งว่า 5 เคล็ดลับบริหารเงินหลังเกษียณนี้จะช่วยทำให้ทุกคนได้วางแผนและเตรียมตัวเกษียณได้อย่างมีคุณภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ 

ซึ่งนอกจากทั้ง 5 เคล็ดลับนี้ การบริหารเงินเพื่อเกษียณอายุยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษี อาชีพ และอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้น เพื่อบริหารและวางแผนได้รัดกุมมากที่สุด นักวางแผนการเงินจาก Money Adwise พร้อมช่วยให้ทุกคนก้าวเข้าสู่การเกษียณในแบบที่ต้องการ ด้วยมาตรฐานการวางแผนเงินระดับโลก CERTIFIED FINANCIAL PLANNER หรือ CFP สามารถนัดวางแผนบริหารเงินหลังเกษียณได้ที่ Line: @MoneyAdwise (มี @ ด้วย)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้