ผู้เขียน จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ CFP®
ที่ผ่านมาคุณอาจเคยชินกับการคิดหาวิธีสะสมเงินทองให้เยอะพอใช้หลังเกษียณ หาเงินออมใหม่ๆใส่พอร์ตอย่างต่อเนื่อง แต่พอเกษียณแล้วคุณจะต้องปรับเปลี่ยนทั้งมุมมองความคิด และวิธีการ ว่าจะทำอย่างไรให้เงินที่สะสมมายังคงเติบโต ให้เงินที่มีพอใช้นานที่สุดโดยที่ยังมีความสุขกับการใช้ชีวิตช่วงเกษียณ
หลังเกษียณสภานการณ์การเงินที่เปลี่ยนไป บางคนรายได้ลดลง บางคนไม่มีรายได้เลย รูปแบบการใช้ชีวิต การใช้จ่ายไม่เหมือนสมัยทำงาน หลายคนอาจกังวลไม่กล้าใช้เงิน กลัวใช้เยอะเกินไปแล้วเงินจะหมด เราจึงมีตัวช่วยมาแนะนำนั่นคือ การทำงบประมาณ (Budgeting) ซึ่งคุณสามารถวางแผนได้ตั้งแต่ช่วงก่อนเกษียณ และคอยปรับปรุงให้เหมาะสมในช่วงเกษียณ
ในการทำงบประมาณ รายจ่ายเป็นส่วนที่คุณสามารถควบคุมได้ ถึงแม้ช่วงเกษียณใหม่ๆ มีเงินก้อนโต มีเวลาว่างเยอะ(ทุกวันคือวันพักร้อน) คุณอาจจะอยากทำตามฝันไปเที่ยวรอบโลก เปลี่ยนรถใหม่ ซื้อของชิ้นใหญ่ หรือตกแต่งบ้าน หากมีการทำงบประมาณที่ละเอียด ชัดเจน คุณจะกล้าตัดสินใจว่าจะใช้หรือไม่ใช้อะไร ไม่ต้องเครียดจนเกินไปเมื่อต้องใช้จ่าย และลดความเสี่ยงเผลอใช้จ่ายมากเกินไป
ทำงบประมาณ
วิธีทำงบประมาณนั้นไม่ยาก เริ่มจากสำรวจวิถีชีวิตตนเองก่อน จดรายการค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่มีออกมา อาจรวบรวมจากรายการบัตรเครดิต บิลค่าใช้จ่ายต่างๆ รายการเดินบัญชีธนาคาร ค่าเบี้ยประกัน ฯลฯ หลังจากนั้นแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ค่าใช้จ่ายจำเป็น และ ค่าใช้จ่ายพิเศษ บางรายการจะเป็นค่าใช้จ่ายสม่ำเสมอ บางรายการอาจจะใช้เงินก้อนใหญ่ครั้งเดียว เช่น ปรับปรุงบ้าน
สำหรับคนที่ยังไม่เกษียณ ลองจินตนาการว่าหลังเกษียณจะใช้ชีวิตอย่างไร อยู่ที่ไหน กินอะไร ใช้อะไร ยังมีหนี้สินที่ต้องผ่อนหรือไม่ เท่าไหร่บ้าง บางรายการคาดการณ์ได้ว่าจะไม่มี หรือลดลงช่วงเกษียณขึ้นอยู่กับแต่ละคน เช่น ผ่อนบ้านหมดก่อนเกษียณ ไม่ต้องขับรถไปทำงานค่าน้ำมันลดลง กินข้าวที่บ้านค่าอาหารลดลง แต่บางรายการเพิ่มขึ้น เช่น ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ค่าปรับปรุงบ้าน
เมื่อจดรายการค่าใช้จ่ายออกมาแล้ว แบ่งรายการค่าใช้จ่ายเป็น 2 หมวดหมู่ คือ ค่าใช้จ่ายจำเป็น และค่าใช้จ่ายพิเศษ
ค่าใช้จ่ายจำเป็น คือ ส่วนที่ไม่มีแล้วจะไม่สามารถใช้ชีวิตได้ เช่น ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ที่พัก ข้าวของเครื่องใช้ ค่าเดินทาง ค่ายา ค่าทำฟัน ค่ารักษาพยาบาล เบี้ยประกันสุขภาพ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น
ค่าใช้จ่ายพิเศษ เช่น ค่าท่องเที่ยว ของขวัญ นันทนาการ ค่าสมาชิกฟิตเนส ทำบุญ ค่าจัดงานแต่งงานลูก งานอดิเรก เป็นต้น
เมื่อได้รายการทั้งหมด จะประเมินมูลค่าปัจจุบันของค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณได้ อย่าลืมคิดเป็นมูลค่าอนาคตโดยปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ หลายคนสะสมเงินเอาไว้แต่พอดี แต่ลืมคิดถึงเงินเฟ้อที่ขยับค่าครองชีพขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดปัญหามีเงินไม่เพียงพอ
สมมติว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3%ต่อปี ประมาณค่าใช้จ่ายต่อเดือนได้ 25,000 บาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อใช้ชีวิตได้ตามที่วางแผนไว้ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 33,597 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 8,597 บาท คิดเป็น 34.39% ถ้าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น มูลค่าของเงินยิ่งลดลงเร็วขึ้น และค่าใช้จ่ายบางรายการมีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่ารายการทั่วไป เช่น ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
หลังจากนั้น ทบทวนดูอีกครั้ง อาจจะเพิ่ม/ลดบางรายการให้เข้ากับช่วงชีวิต เช่น หลังอาย 70 ปี ไม่เดินทางท่องเที่ยวแล้ว และค่านันทนาการลดลงด้วย แต่ค่าใช้จ่ายบางอย่างน่าจะเกิดขึ้น เช่น ซื้ออุปกรณ์ช่วยเหลือหรือปรับปรุงบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุ
เงินสำรองฉุกเฉินก็ควรกันไว้อีกส่วนหนึ่ง ในบางช่วงเวลาอาจมีเหตุฉุกเฉินเข้ามา เกิดค่าใช้จ่ายนอกงบที่ตั้งไว้ เช่น ค่าซ่อมรถ ค่าเดินทางไปรักษาพยาบาล ค่าซ่อมบ้าน เป็นต้น เงินสำรองฉุกเฉินจะช่วยได้
ควบคุมรายจ่าย
การทำงบประมาณช่วยให้เห็นภาพชัดเจนว่าในอนาคตจะใช้เงินเท่าไหร่ เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเก็บที่สะสมไว้ ถ้าเพียงพอ สิ่งที่คุณต้องทำต่อไป คือ ควบคุมรายจ่ายให้อยู่ในงบที่ตั้งไว้
หลายคนใช้วิธีต่างกันไปในการคุมรายจ่าย มี 2 วิธีแนะนำให้คุณลองปรับใช้
1. จดค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่ใช้ในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเยอะหรือน้อยแค่ไหน แล้วทุกเดือน หรือทุกสัปดาห์ นำมาเปรียบเทียบกับงบระมาณที่ตั้งไว้ เป็นการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างง่ายนั่นเอง
2. บางคนไม่ชอบจด ก็สามารถแบ่งเงินตามงบประมาณในแต่ละเดือนเป็นหมวดหมู่ และดึงมาใช้ให้ตรงหมวด พยายามใช้จ่ายในอยู่ในงบที่ตั้งไว้
ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันมากมายช่วยให้คุณบันทึกรายรับ-รายจ่ายได้สะดวก รวดเร็ว บางแอปพลิเคชันสามารถตั้งงบ (Budget) ให้แต่ละหมวดค่าใช้จ่ายได้ด้วย ทุกเดือนก็ทำสรุปเป็นหมวดหมู่ให้คุณเลย
คุณสามารถใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กัน หมั่นทบทวนรายจ่ายสม่ำเสมอ ปรับปรุงงบของคุณให้เหมาะสมแน่นอนว่าคุณจะไม่สามารถคุมค่าใช้จ่ายไว้ตามที่วางแผนไว้ตลอดเวลา นี่เป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินไป บางครั้งอาจมีเหตุสุดวิสัย บางครั้งก็เกิดค่าใช้จ่ายที่คุณจ่ายเพื่อความสุขของคนในครอบครัว คุณเลือกได้ แผนการเงินนี้เป็นของคุณ คุณสามารถปรับแผนระหว่างการเกษียณได้ ไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดกับแผนจนไม่มีความสุข
อีกหนึ่งเคล็ดลับคือ พยายามทำทุกอย่างให้ง่ายในการจัดการ คุณจะไม่รู้สึกเหนื่อย และหงุดหงิดที่จะบริหารเงินของคุณในระยะยาว คุณอาจจะเลือกปิดบัตรเครดิตหลายๆใบของคุณจนเหลือใบเดียวเพื่อใช้จ่าย ลดจำนวนบัญชีออมทรัพย์ลง ถ้าหากคุณมีพอร์ตการลงทุนหลายที่ก็นำมารวมกันได้ คุณจะติดตามเงินเขาออกสะดวกขึ้น ลองทบทวน และยกเลิกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นประจำที่ไม่จำเป็น พวกค่าสมาชิก ค่าบริการรายเดือน ก็เป็นอีกวิธีที่จัดการเรื่องเงินได้ง่ายขึ้น
หารายได้เพิ่ม
เมื่อคุณทำงบประมาณโดยละเอียดแล้ว ก็จะพบว่าเงินที่เตรียมไว้เพียงพอหรือไม่
คนเราส่วนใหญ่มักประเมิณการใช้จ่ายในช่วงเกษียณต่ำเกินไป คิดว่าจะกินน้อย ใช้น้อย อยู่อย่างพอกินพอใช้ แต่เมื่อถึงเวลาอาจใช้เยอะ บ้างหมดไปกับค่ารักษาพยาบาล อาหารเสริม บ้างก็ติดภาระ ต้องช่วยปัญหาลูกหลาน อีกหนึ่งตัวช่วยก็คือ การหารายได้เพิ่ม หรือ ยืดอายุเกษียณออกไป
คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย ถ้าร่างกายยังแข็งแรง แล้วต้องทิ้งความรู้ ประสบการณ์ทำงาน ไปอยู่บ้านเฉยๆ หลายคนอาจจะเบื่อกับการนั่งๆนอนๆอยู่ที่บ้าน ออกมาทำงานเข้าสังคม กลับช่วยให้สุขภาพจิตดี มีความสุขมากกว่า เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ด้วย
ยกตัวอย่างประเทศที่มีผู้สูงอายุเยอะอย่างประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะมองไปทางไหน คุณก็จะเห็นผู้สูงอายุออกมาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขายสินค้า พนักงานโรงแรม พนักงานขับรถ อาจารย์ ไกด์นำเที่ยว ศิลปิน ทำขนม ขายต้นไม้ ขายอาหาร สังเกตุจากสีหน้าท่าทาง จะเห็นทั้งความแข็งแรง กระปรี้กระเปร่าและ ความภาคภูมิใจที่ได้ทำงาน
คุณสามารถวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าคุณอยากจะทำอาชีพอะไร อาจจะแค่ยืดอายุเกษียณในงานประจำถ้าทำได้ หรือเปลี่ยนอาชีพไปเลย พิจารณาให้ดีหากต้องลงทุนเพิ่ม แนะนำว่าเลือกงานที่ต้นทุนต่ำ เหมาะกับความถนัด ความชอบ เหมาะกับวัย และสภาพร่างกาย เช่น ที่ปรึกษา อาจารย์ นักเขียน วิทยากร ขายอาหาร นายหน้า ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มี เป็นต้น เกษียณทั้งที เลือกงานที่คุณมีความสุขกับมัน รู้สึกถึงคุณค่า ไม่ต้องโหมหารายได้จนลำบากร่ายกายเกินไป
เพียงคุณใช้ตัวช่วย 3 อย่างนี้อย่างต่อเนื่อง ทบทวนงบประมาณเป็นประจำ ควบคุมรายจ่ายให้เหมาะสม และมีรายได้เพิ่มเข้ามาด้วย คุณจะสามารถบริหารการเงินของคุณช่วงหลังเกษียณได้อย่างสบายใจ แผนการเงินเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับทุกช่วงชีวิต เริ่มวางแผนและใช้แผนนี้ช่วยคุณให้มีสุขภาพการเงินที่แข็งแรง