การวางแผนภาษีพ.ศ. 2567 ไม่ใช่แค่การคำนวณเพื่อหาจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้กับภาครัฐ แต่เป็นโอกาสในการบริหารจัดการรายได้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแนวทางในการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้อง ไม่เพียงจะช่วยลดภาระทางการเงิน แต่ยังเป็นวิธีการที่ช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิ์ต่าง ๆ ที่กฎหมายให้ไว้ได้อย่างเต็มที่ สำหรับการยื่นภาษีในช่วงต้นปีที่จะมาถึง แนวทางการลดหย่อนภาษีสำหรับรอบปี 2567 จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว, ค่าลดหย่อนกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน, ค่าลดหย่อนการบริจาค และค่าลดหย่อนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
การลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัวเป็นสิทธิ์พื้นฐานที่ผู้เสียภาษีทุกคนควรได้รับ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ตัวคุณเอง คู่สมรส บุตร ไปจนถึงการดูแลสมาชิกในครอบครัวอย่างพ่อแม่และผู้พิการ มาดูรายละเอียดกันว่า ในแต่ละส่วนสามารถลดหย่อนภาษีได้เท่าไรบ้างในรอบปี 2567
ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว
ลดหย่อนได้ 60,000 บาท ต่อปี เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนได้รับ ไม่ว่าจะมีสถานภาพโสดหรือสมรส
ค่าลดหย่อนคู่สมรส
ลดหย่อนได้ 60,000 บาท หากคู่สมรสไม่มีรายได้และได้จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้อง
ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาทต่อครรภ์
ค่าลดหย่อนภาษีบุตร
ลดหย่อนได้ 30,000 บาทต่อคน สำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย และหากเป็นบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 ลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อคน
ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดา
ลดหย่อนได้ 30,000 บาทต่อคน สำหรับพ่อแม่ที่มีอายุเกิน 60 ปี และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี รวมถึงพ่อแม่ของคู่สมรสด้วย
ค่าลดหย่อนการอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ
ลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อคน โดยผู้พิการต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรผู้พิการ
นอกจากค่าลดหย่อนพื้นฐานแล้ว การใช้สิทธิลดหย่อนจากการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ประกันชีวิต กองทุนเพื่อการเกษียณ หรือการออมต่าง ๆ ยังช่วยให้คุณลดหย่อนภาษีได้อย่างคุ้มค่า โดยรายละเอียดต่อไปนี้จะช่วยให้คุณวางแผนภาษีปี 2567 ได้ชัดเจนขึ้น
เงินประกันสังคม
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 9,000 บาท
เบี้ยประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์
ลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท แต่ต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครองเกิน 10 ปี
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ สูงสุด 200,000 บาท โดยต้องถือหน่วยลงทุนเกิน 10 ปี
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 30,000 บาท
เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ สูงสุด 200,000 บาท
การบริจาคเพื่อสนับสนุนสังคม การศึกษา หรือแม้กระทั่งพรรคการเมือง ไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมความเจริญในสังคม แต่ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีในรอบปี 2567 ได้อีกด้วย ลองมาตรวจสอบดูว่าการบริจาคในกลุ่มใดบ้างที่ให้สิทธิ์สำหรับการลดหย่อนภาษี
เงินบริจาคทั่วไป
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้ หลังหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ
บริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา และการพัฒนาสังคม
ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้ หลังหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ
บริจาคให้พรรคการเมือง
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 10,000 บาท
ก่อนที่จะเสียภาษีในรอบปี 2567 อย่าลืมตรวจสอบว่าตนเองมีสิทธิ์ได้รับการลดหย่อนตามโครงการของรัฐบาลหรือไม่ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้มาพร้อมกับสิทธิ์เพื่อลดหย่อนภาษีที่หลากหลาย ตั้งแต่การช็อปปิงไปจนถึงดอกเบี้ยบ้าน
Easy E-Receipt
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 50,000 บาท สำหรับการซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการในช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2567
ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 100,000 บาท
นอกจากการรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการวางแผนภาษี และลดหย่อนภาษีรอบปี พ.ศ. 2567 แล้ว ถ้าอยากจ่ายภาษีอย่างคุ้มค่าที่สุด ขอแนะนำนักวางแผนทางการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ CFP® จาก Money Adwise พร้อมช่วยคุณวางแผนภาษี รวมถึงจัดพอร์ตกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนได้อย่างคุ้มค่าและตอบโจทย์กับเป้าหมายที่วางไว้มากที่สุด สามารถนัดปรึกษาครั้งแรกฟรี ลงทะเบียนในหน้าเว็บไซต์ได้เลย
ข้อมูลอ้างอิง:
ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง? สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/download/tax_deductions_update30072567.pdf
มาตรการลดหย่อนภาษี 2568 Easy e-Receipt รัฐบาลเตรียมปัดฝุ่นอีกรอบ สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.thansettakij.com/business/economy/610480