ทำงานต้องรู้ เงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยื่นภาษีอย่างไร ?

เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับการลดหย่อนภาษี

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ Provident Fund หนึ่งในสวัสดิการสำคัญที่คนส่วนใหญ่มองหาเมื่อต้องย้ายที่ทำงานใหม่ แต่รู้หรือไม่ ว่าเงินสะสมที่ถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือน รวมทั้งเงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ล้วนมีสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องทำการยื่นภาษีทุกครั้งตามกฎหมายที่กรมสรรพากรกำหนด และนี่คือข้อมูลสำคัญของเงินได้และเงินสะสมกองทุนสํารองเลี้ยงชีพกับการยื่นภาษี ที่วัยทำงานทุกคนต้องรู้

ความหมายและความสำคัญของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ก่อนจะไปเจาะลึกว่าเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องยื่นภาษีอย่างไร แล้วเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไหม อันดับแรก คนทำงานทุกคนควรต้องเข้าใจความหมายและความสำคัญของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างถ่องแท้เสียก่อน ซึ่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ Provident fund คือกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้จ่ายหลังจากเกษียณอายุ ออกจากงาน หรือทุพพลภาพ ประกอบไปด้วยเงิน 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

  • เงินสะสมของลูกจ้างที่ถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือน สามารถสะสมได้ 2-15% ของเงินเดือน
  • เงินสมทบจากนายจ้าง โดยต้องไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง และสมทบได้ 2-15% ของเงินเดือน
  • ผลประโยชน์ที่งอกเงยมาจากการลงทุนของเงินสะสมของลูกจ้าง 
  • ผลประโยชน์ที่งอกเงยมาจากการลงทุนของเงินสมทบของนายจ้าง

 

เงินสมทบและเงินสะสมจะถูกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนนำไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เงินฝาก หุ้น ตราสารหนี้ เพื่อให้เงินงอกเงยและกลายเป็นผลประโยชน์ที่จะนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกทุกคนในกองทุนตามสัดส่วนเงินสะสมที่ฝากไว้

ข้อดีของการทำงานในองค์กรที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

  • สร้างวินัยในการออม และช่วยให้มีเงินออมที่งอกเงยอย่างต่อเนื่องสำหรับใช้จ่ายในวัยหลังเกษียณ
  • สามารถนำเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้
  • ลดความเสี่ยงจากการใช้เงินในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ และเพิ่มโอกาสสร้างความมั่นคงทางการเงิน
  • แสดงถึงความใส่ใจของนายจ้างที่ต้องการสร้างความมั่นคงให้กับพนักงาน จึงช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับการทำงาน 

 

เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับในกรณีใดบ้าง ?

คุณจะสามารถรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ใน 3 กรณี ดังนี้

  • รับเงินเนื่องจากเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี ตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัท
  • รับเงินเนื่องจากลาออกจากกองทุนแต่ไม่ได้ลาออกจากงาน
  • รับเงินเนื่องจากลาออกจากงาน แต่ในกรณีที่ทำงานใหม่มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และยังไม่ประสงค์รับเงินคืน สามารถแบ่งวิธีการบริหารจัดการได้เป็น 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่
    • เก็บเงินไว้กับกองทุนเดิม
    • โอนย้ายไปรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่
    • โอนย้ายไปรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเกษียณ (กองทุน RMF)

 

 

 

เงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องยื่นภาษีอย่างไร ?

จากที่กล่าวไปข้างต้น ว่าลูกจ้างจะได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใน 3 กรณี แต่ถึงแม้ว่าเงินสะสมจะไม่ต้องเสียภาษี แต่เงินส่วนที่เป็นผลประโยชน์และเงินสมทบจากนายจ้างในบางกรณีจะต้องเสียภาษี โดยต้องนำมายื่นภาษีตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. กรณีเกษียณอายุ

หากอายุครบ 55 ปีและเป็นสมาชิกกองทุนต่อเนื่องขั้นต่ำ 5 ปี เงินผลประโยชน์ทั้งหมดและเงินสมทบจากนายจ้างจะได้รับการยกเว้นภาษี

2. กรณีลาออกจากกองทุนแต่ไม่ลาออกจากงาน

หากลาออกจากกองทุนแต่ไม่ลาออกจากงาน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ก็ต้องนำเงินผลประโยชน์ทั้งหมดและเงินสมทบจากนายจ้างมาคำนวณเป็นเงินได้ เพื่อใช้ในการยื่นภาษีประจำปีตามฐานรายได้ที่กรมสรรพากรกำหนด

3. กรณีลาออกจากงาน

หากลาออกจากงานแล้วต้องการรับเงินทั้งหมด สามารถนำเงินจากกองทุนมาคำนวณภาษีได้ 2 กรณี ได้แก่

  • กรณีอายุงานต่ำกว่า 5 ปี ต้องนำเงินผลประโยชน์ทั้งหมดและเงินสมทบจากนายจ้างมาคำนวณเป็นเงินได้ เพื่อเสียภาษีประจำปี
  • กรณีอายุงานมากกว่า 5 ปี สามารถทำวิธีเดียวกับผู้ที่อายุงานต่ำกว่า 5 ปีได้ หรือแยกคำนวณเพื่อให้เสียภาษีน้อยลงโดยใช้สูตร [เงินผลประโยชน์และเงินสมทบจากนายจ้าง - (7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน)] x 0.5 จะได้เงินได้สำหรับนำไปใช้คำนวณภาษีประจำปี
    • ยกตัวอย่างเช่น คุณ A มีเงินสะสมในกองทุน 100,000 บาท เงินสมทบจากนายจ้าง 100,000 บาท ผลประโยชน์จากเงินสะสมและเงินสมทบรวม 20,000 บาท อายุงาน 10 ปี สามารถคำนวณได้ว่า [120,000 - (7,000 x 10)] x 0.5 = 25,000 เท่ากับว่าต้องนำเงินได้ 25,000 บาทไปคำนวณภาษีเงินได้


เงื่อนไขในการใช้เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลดหย่อนภาษี

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ โดยสามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และไม่เกิน 500,000 บาท

อยากวางแผนภาษีจากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ลงทะเบียนรับคำแนะนำจากที่ปรึกษาทางการเงินของ Money Adwise ได้ทางเว็บไซต์ ช่วยคุณวางแผนภาษีและการเงินส่วนบุคคลได้ครอบคลุมโดยนักวางแผนการเงินคุณวุฒิ CFP® ปรึกษาครั้งแรก ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. รู้ก่อนก็เซฟกว่า! กองทุนสำรองเลี้ยงชีพช่วยลดหย่อนภาษีได้อย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.principal.th/th/provident-fund-May-2023
  2. เงินที่รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คำนวณภาษีอย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2566/211266.pdf 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้