ผู้เขียน จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ CFP®
การแพร่ระบาดของ COVID-19 และ Technology Disruption ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายในโลก ทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คน ระบบเศรษฐกิจ และสังคม นักลงทุนน่าจะมีคำถามว่าจะจัดพอร์ตการลงทุนอย่างไร มีโอกาสในการลงทุนอะไรบ้างที่จะได้ประโยชน์จากกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ เรามาดู 3 Themes การลงทุนที่น่าสนใจกัน
1. Theme สุขภาพ (Healthcare)
คนเรามีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้น หลายๆประเทศก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ทำให้มีความต้องการการดูแลสุขภาพ และการแพทย์มากขึ้น วิวัฒนาการทางการแพทย์ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การลงทุนในหมวดนี้น่าสนใจ และมีแนวโน้มเติบโตดีในอนาคต ยิ่งในช่วง COVID-19 ด้วยแล้ว สินค้า และบริการในหมวดนี้ยิ่งมีความต้องการสูงขึ้น และเทคโนโลยีก็ถูกนำมาร่วมใช้มากขึ้น
นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยอาจนึกถึงการลงทุนในหมวดนี้แค่ ผู้ผลิตยา (Pharmaceutical) หรือ โรงพยาบาล แต่จริงๆแล้วในต่างประเทศการลงทุนด้านสุขภาพมีความหลากหลายมาก เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology), บริการทางการแพทย์ (Medical Service), เครื่องมือแพทย์ (Medical Device), การรักษาโรคทางพันธุกรรม (Gene therapy) และการบริการทางการแพทย์ออนไลน์ (Digital Health)
ปัจจุบันมีกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund) หลายกองทุนที่ทำให้นักลงทุนเข้าถึงการลงทุนในหมวดนี้ได้ นักลงทุนสามารถหาข้อมูลเบื้องต้นจาก Fund Fact Sheet ว่าแต่ละกองทุนลงทุนในกองทุนต่างประเทศกองทุนใด และในกองทุนนั้นมีหุ้นอะไรบ้าง ตัวอย่างกองทุนต่างประเทศที่กองทุนไทยนำเงินไปลงทุน เช่น กองทุน Janus Global Life Sciences, กองทุน JPMorgan Global Healthcare, กองทุน Wellington Global Healthcare Equity, กองทุน CS(Lux) Global Digital Health Equity และกองทุน Janus Henderson Horizon Biotechnology แต่ละกองทุนมีนโยบายการลงทุนแตกต่างกัน
สังเกตุได้ว่าปีที่ผ่านมา กองที่ลงทุนกลุ่ม Digital Health และ Biotechnology ผลตอบแทนสูงกว่ากอง Healthcare กลุ่มอื่นมาก และมีความผันผวนสูง เพราะฉะนั้นก่อนลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีว่าใช่หมวดที่ต้องการหรือไม่
2. Theme เทคโนโลยี (Technology)
กระแสเทคโนโลยีมาแรงตั้งแต่ก่อน COVID-19 แล้ว นักลงทุนต่างสนใจ และมองหาโอกาสจาก Technology Disruption พอเกิดโรคระบาด คนอยู่บ้านมากขึ้น ต้องใช้ชีวิตแบบ Social Distancing ยิ่งทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้เป็นที่ต้องการมากขึ้น และเติบโตอย่างก้าวกระโดด ธุรกิจกลุ่มนี้แตกออกมาเป็นหมวดย่อยที่เกี่ยวข้องได้อีก เช่น Innovation, E-Commerce, Digital Media, Cloud Computing, Big data, Internet of Thing, Fintech, AI & Robotics และ Blockchain เป็นต้น
นักลงทุนสามารถเกาะกระแสการลงทุนนี้ได้โดยซื้อกองทุนไทยที่ลงทุนในหุ้น, กองทุน หรือ ETF ต่างประเทศ ปัจจุบันมีให้เลือกทั้งกองทุนที่เน้นหุ้นเทคโนโลยีระดับโลก (Global Technology Fund) ลงทุนในหุ้น Apple, Microsoft, Tesla, Amazon เป็นต้น บางกองทุนเน้นเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยีที่อยู่ในเอเชีย บางกองทุนจะเน้นเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เท่านั้น หรือมีแม้กระทั่งกองทุนที่เน้นลงทุนด้านนวัตกรรม (Innovation)ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้าน Genomic Revolution, ด้าน Fintech Innovation, ด้าน Gaming & eSport และ Industrial Innovation เป็นต้น จึงจัดพอร์ตลงทุนในกองทุน ETF หลายๆกอง เพื่อกระจายความเสี่ยง และลดต้นทุน
3. Theme ESG
นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมากขึ้น โดยมีมุมมองว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จ และเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ก็ต่อเมื่อธุรกิจนั้นใส่ใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า พนักงาน คู่ค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม หากองค์กรใดละเลยก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย หรือมีความเสี่ยงต่อการสร้างกำไรในระยะยาว
หลายคนอาจยังนึกไม่ออกว่าเกี่ยวกับการลงทุนอย่างไร ลองนึกถึงตัวอย่างว่า หากลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น โรงงานผลิตสินค้าที่ปล่อยน้ำเสียสู่แหล่งน้ำของชุมชน มีปัญหาฟ้องร้อง เกิดคดีความ ทำให้บริษัทเสียเงิน และเสียชื่อเสียง หรือหากธุรกิจไม่มีระบบระเบียบที่ชัดเจน ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพพนักงาน ไม่มีธรรมาภิบาลที่ดี อาจเกิดการทุจริตภายในองค์กรได้ ดังนั้นการลงทุนโดยยึดหลัก ESG จะช่วยลดความเสี่ยง ลดความผันผวนจากการลงทุนได้ เนื่องจากธุรกิจที่ดำเนินการตามหลัก ESG มีโอกาสเกิดผลกระทบด้านลบจากการดำเนินกิจการลดลง
จากรายงานของ Sustainalytics ซึ่งทดลองหาความสัมพันธ์ของข้อมูลทางการเงินกับข้อมูลด้าน ESG พบว่า Economic Moat Rating (วัดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และการสร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นในระยะยาว) และ ESG Risk (วัดความเสี่ยงด้าน ESG ของบริษัทที่ส่งผลทางการเงินอย่างมีนัยสำคัญ) มีความเชื่อมโยงกัน สะท้อนว่าบริษัทที่มีความแข็งแกร่งในการแข่งขัน มักใส่ใจในการจัดการด้าน ESG ในขณะเดียวกัน บริษัทที่มีความเสี่ยงด้าน ESG ต่ำ ก็จะมีบุคลากร สภาพแวดล้อมที่ดี และต้นทุนต่ำเพื่อยกระดับให้บริษัทแข่งขันในระยะยาวได้
สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหมวดนี้ ทาง Morningstar ได้ให้เรตติ้ง ESG ในระดับกองทุนรวมไว้ด้วย เรียกว่า Morningstar Sustainability Rating สามารถเข้าไปดูรายชื่อกองทุนรวมในไทยที่เน้นหลัก ESG ในการลงทุนได้ ตัวอย่างเช่น กองทุน UESG, กองทุน K-CHANGE-A(A), กองทุน MRENEW และกองทุน T-ES-GGREEN เป็นต้น
ข้อควรระวัง
อย่างไรก็ตามการลงทุนตาม Theme มักจัดการลงทุนเฉพาะเจาะจงในบางหมวดอุตสาหกรรม ทำให้มีการกระจุกตัวสูง มีความผันผวนกว่ากองทุนทั่วไป แนะนำให้นักลงทุนศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน ควรชัดเจนในเป้าหมายการลงทุน จัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่รับได้ และติดตามพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอ