ครบจบ! ทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ Exchange Rate ในการลงทุนต่างประเทศ

Exchange Rate สำคัญกับการลงทุนต่างประเทศอย่างไร

ผู้เขียน รัฐพล วชิรเมฆากุล CFP®

การสร้างผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพในการลงทุนต่างประเทศ ไม่เพียงแต่จะต้องพิจารณาถึงเศรษฐกิจ การเมือง และข่าวสารโลกเท่านั้น แต่นักลงทุนยังต้องพิจารณา “Exchange Rate” หรือ “อัตราแลกเปลี่ยน” ระหว่างค่าเงินแต่ละประเทศร่วมด้วย เนื่องจากค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อต้นทุนในการลงทุน และอาจทำให้นักลงทุนไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ตั้งใจเอาไว้

สำหรับใครที่สนใจอยากลงทุนในตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือจะเป็นการลงทุนในกองทุนต่างประเทศ หากต้องการสร้างผลตอบแทนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลองมาทำความรู้จักกับทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับเรื่อง Exchange Rate ไปพร้อม ๆ กับที่ปรึกษาด้านการลงทุนกองทุนต่างประเทศจาก Money Adwise กัน

 

Exchange Rate คืออะไร?

ก่อนที่จะไปวางแผนรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน นักลงทุนควรทำความเข้าใจก่อนว่า อัตราแลกเปลี่ยน หรือ Exchange Rate นี้คืออะไร และสามารถส่งผลกับการลงทุนได้อย่างไรบ้าง

โดยอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate) คือ ความสัมพันธ์ระหว่างราคาของเงิน 2 สกุลที่นำมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งจะประกอบไปด้วย 2 มุมมองจากทั้งเงินสกุลท้องถิ่นและเงินสกุลที่ต้องการจะเปรียบเทียบ 

เช่น ตามอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 19 ธันวาคม 2565 เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐมีค่าเท่ากับเงิน 34.85 ของเงินบาทไทย และในอีกมุมหนึ่ง เงิน 1 บาทไทยจะมีค่าเท่ากับ 0.029 ดอลลาร์สหรัฐ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เงิน 34.85 บาทไทยสามารถซื้อเงินได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่เงิน 1 บาทไทยสามารถซื้อได้เพียง 0.029 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ นักลงทุนหลายคนคงเริ่มสงสัยว่า ทำไมค่าเงินของแต่ละประเทศถึงมีมูลค่าไม่เท่ากัน มีเหตุผลใดที่ทำให้ค่าเงินของประเทศหนึ่งสูงกว่าอีกประเทศหรือไม่ คำตอบ คือ เศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของแต่ละประเทศนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดมูลค่าของค่าเงิน ซึ่งในปัจจุบัน ค่าเงินที่นักลงทุนให้ความน่าเชื่อถือสูงสุด จะประกอบไปด้วย ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ (GBP) และยูโร (EUR)

 

Exchange Rate ส่งผลต่อการลงทุนต่างประเทศอย่างไร?

จากความสัมพันธ์ของค่าเงินข้างต้น นักลงทุนที่สนใจในตลาดต่างประเทศบางส่วนอาจมองว่า การเลือกลงทุนในสกุลเงินที่มีมูลค่าน้อยอย่างเงินบาทไทยนั้นอาจไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ต้องการ และเสียเปรียบในมุมมองของตลาดโลกได้ 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะมีมูลค่ามากน้อยแค่ไหน ค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนนั้นก็เป็นปัจจัยที่สามารถให้ทั้งข้อดีและข้อเสียในการลงทุนได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะมองในมุมไหน หรืออยู่ในสถานการณ์ใด โดยนักลงทุนสามารถพิจารณาได้จาก 2 มุมมองของค่าเงิน ดังนี้

  1. ค่าเงินแข็ง
    เป็นสถานการณ์ที่สกุลเงินที่ต้องการจะเปรียบเทียบ “มีค่ามากกว่า” หรือหากต้องแลกเงินไปเป็นสกุลอื่นก็จะใช้เงินน้อยลง เช่น สมัยก่อนเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐมีค่าเท่ากับ 30 บาทไทย แต่ในปัจจุบันเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงิน 34.85 บาท ซึ่งจากมุมมองของค่าเงินสหรัฐก็แปลว่า ในขณะนี้เงินดอลลาร์นั้นแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท

  2. ค่าเงินอ่อน
    เป็นสถานการณ์ที่สกุลเงินที่ต้องการจะเปรียบเทียบ “มีค่าน้อยกว่า” หรือหากต้องแลกเงินไปเป็นสกุลอื่นแล้วต้องใช้เงินมากขึ้น เช่น สมัยก่อนสามารถใช้เงิน 30 บาทไทยแลกเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐได้ แต่ในปัจจุบันต้องใช้เงินถึง 34.85 บาทในการแลกเงิน 1 ดอลลาร์ ซึ่งหากมองจากมุมมองของค่าเงินบาทไทยก็แปลว่า ตอนนี้เงินบาทไทยกำลังอ่อนค่าลงนั่นเอง

 

ค่าเงินแข็ง - ค่าเงินอ่อน ส่งผลต่อการลงทุนในตลาดต่างประเทศอย่างไร?

นอกจากจะส่งผลกระทบในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องนำเข้า การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ รวมไปกำลังซื้อของประชาชนแล้ว ค่าเงินแข็งหรืออ่อนค่านี้ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนเช่นกัน ซึ่งสามารถพิจารณาได้ตามกรณีต่าง ๆ ดังนี้

 

 

สถานการณ์ค่าเงินต้นทุนการลงทุนผลตอบแทน
ค่าเงินลงทุนต้นทางอ่อนค่าต้นทุนการลงทุนสูงขึ้น

เช่น หากเปรียบเทียบการนำเงิน 30 ล้านบาทไทยไปแลกเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อไปลงทุนต่อ กับ นำเงิน 34.85 ล้านบาทไปแลกเป็นเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อลงทุน

จะเห็นได้ว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนนั้นทำให้ต้นทุนการลงทุนเพิ่มขึ้นมาถึง 4.85 ล้านบาท
ผลตอบแทนเมื่อแลกคืนเป็นเงินต้นทางสูงขึ้น

เช่น สมัยก่อนหากแลกเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะได้ถึง 30 ล้านบาทไทย แต่หากเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งตัวขึ้น และ 1 ดอลลาร์สหรัฐแลกได้ 34.85 บาทไทย นักลงทุนก็จะได้ผลตอบแทน 34.85 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มมากขึ้นถึง 4.85 ล้านบาทเช่นกัน

ดังนั้น หากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า นักลงทุนจะสามารถแลกผลตอบแทนสกุลเงินบาทไทยได้สูงขึ้น
ค่าเงินลงทุนต้นทางแข็งค่าต้นทุนการลงทุนต่ำลง

เช่น หากค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้น สามารถแลกเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐได้โดยใช้เงินเพียง 20 บาท หากต้องการลงทุนต่างประเทศด้วยเงิน 1 ล้านดอลลาร์ก็จะใช้ต้นทุนเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น

หากเปรียบกับสมัยที่ต้องแลกเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยใช้เงิน 30 ล้านบาทก็จะลดต้นทุนลงไปได้ถึง 10 ล้านบาทเลยทีเดียว
ผลตอบแทนเมื่อแลกคืนเป็นเงินต้นทางต่ำลง

เช่น หากได้ผลตอบแทนมา 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนจะแลกคืนได้แค่ 20 ล้านบาทไทย ซึ่งหากเทียบกับสมัยที่แลกเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐได้ 30 บาทไทย นักลงทุนก็จะขาดทุนถึง 10 ล้านบาทเลยทีเดียว

ดังนั้น หากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า นักลงทุนจะแลกผลตอบแทนสกุลเงินบาทไทยได้ต่ำลง

 

จากทั้ง 2 กรณีข้างต้นจะเห็นได้ว่า หากนักลงทุนไทยต้องการลงทุนต่างประเทศ ก็ควรจะเลือกลงทุนในสถานการณ์ที่ “ต้นทุนการลงทุนต่ำ” และ “สร้างผลตอบแทนได้สูง” ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นก็คือ นักลงทุนควรเลือกลงทุนในสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทที่ใช้ลงทุนอยู่ในสถานะแข็งค่า ทำให้ต้นทุนการลงทุนต่ำลง และ สร้างผลตอบแทนกลับมาในสถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือ ค่าเงินที่สนใจลงทุนแข็งค่า ส่งผลให้ผลตอบแทนเมื่อแลกคืนเป็นเงินบาทจะสูงขึ้นนั่นเอง

 

 

รู้หรือไม่?

หากอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินมีความผันผวนสูง นักลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้โดยการใช้ Currency Hedging ได้ แต่นักลงทุนจะต้องศึกษารายละเอียดการทำ Currency Hedging ของแต่ละสินทรัพย์ให้ดี เนื่องจากอาจมีค่าธรรมเนียม ต้นทุน รวมถึงกลยุทธ์ในการวางแผนต่อเนื่องที่แตกต่างกันได้

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อ Exchange Rate

จะเห็นได้ว่า Exchange Rate และค่าเงินนั้นส่งผลกระทบทั้งต้นทุนในการลงทุน รวมถึงการแลกเปลี่ยนเป็นผลตอบแทนกลับคืน ดังนั้น เพื่อวางแผนบริหารความเสี่ยงการลงทุนก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดลงทุนต่างประเทศเพื่อสร้างผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ปรึกษาการลงทุนกองทุนต่างประเทศจาก Money Adwise ขอแนะนำให้นักลงทุนศึกษาและติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนก่อนวางแผนลงทุน ดังนี้

  1. เศรษฐกิจ
    ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงในหลาย ๆ ด้าน มีความเสถียรภาพทางการเมืองสูง จะทำให้สกุลเงินของประเทศนั้นเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินแข็งขึ้น

  2. อัตราดอกเบี้ย
    หากเศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางอาจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อลดเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนี้จะช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินแข็งตัวขึ้นเช่นกัน

  3. ความต้องการของสกุลเงิน
    เมื่อสกุลเงินจากประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น ก็จะส่งผลให้มูลค่าของค่าเงินสูงขึ้นเช่นกัน ทำให้สกุลเงินดังกล่าวนั้นแข็งค่าขึ้นด้วย

 

เทคนิคการลงทุนที่ช่วยบริหารความเสี่ยงจาก Exchange Rate ได้

เมื่อวางแผนลงทุนต่างประเทศผ่านการพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ Exchange Rate ได้แล้ว นักลงทุนยังสามารถบริหารความเสี่ยงจากค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนในระหว่างการลงทุนได้ โดยสามารถใช้ 2 เทคนิคการลงทุน ดังนี้

 

  1. Market Timing
    กลยุทธ์การลงทุนเลือกจับจังหวะลงทุนตามสถานการณ์ โดยนักลงทุนไทยอาจรอให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเพื่อลดต้นทุนในการลงทุน จากนั้นจึงรอจังหวะให้ค่าเงินบาทอ่อนลงอีกครั้งเพื่อแลกคืนผลตอบแทนที่สูงขึ้น
    ข้อควรระวัง: กลยุทธ์ Market Timing สำหรับการลงทุนต่างประเทศมาพร้อมกับข้อดีและข้อเสียที่ต้องพิจารณาให้ดี เนื่องจากการรอเวลาเพื่อซื้อขายสินทรัพย์และแลกผลตอบแทนคืนในกรอบราคาที่ต้องการอาจมาพร้อมกับความเสี่ยงในหลายปัจจัยที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังไม่มีใครสามารถคอนเฟิร์มได้ 100% ว่า ค่าเงินจะปรับตัวไปในทิศทางใดได้บ้าง ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องศึกษาและมีประสบการณ์ในการลงทุนและบริหารพอร์ตที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน

  2. Dollar-Cost Averaging (DCA)
    Dollar-Cost Averaging หรือ DCA เป็นกลยุทธ์ช่วยถัวเฉลี่ยต้นทุนการลงทุน รวมถึงความเสี่ยงของตลาด และอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแบ่งเงินลงทุนเท่า ๆ กันในแต่ละช่วงเวลาที่กำหนด โดยกลยุทธ์นี้สามารถปรับใช้ได้กับการลงทุนในกองทุนต่างประเทศ หุ้นต่างประเทศ และสินทรัพย์บางประเภท
    ข้อควรระวัง: แม้จะช่วยถัวเฉลี่ยต้นทุน ผลตอบแทน และความเสี่ยงบางแง่มุมในการลงทุน แต่นักลงทุนในตลาดต่างประเทศยังต้องศึกษาผลิตภัณฑ์การลงทุน และทิศทางตลาดต่างประเทศอย่างรอบด้าน รวมถึงวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ เพื่อบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

จะเห็นได้ว่า Exchange Rate และค่าเงินนั้นถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตลาดต่างประเทศต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน พอ ๆ กับการพิจารณาตัวรายละเอียดหุ้นต่างประเทศ รวมถึงข้อดีและข้อเสียของสินทรัพย์ที่สนใจ

อย่างไรก็ดี การลงทุนต่างประเทศยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาให้รอบด้านอีกมาก อีกทั้งยังต้องอาศัยการวางแผนการเงินเพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องของเงินลงทุนในระยะยาวอีกด้วย หากใครยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นการพิจารณาตลาดต่างประเทศและปัจจัยทั้งหมดที่เกี่ยวอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนที่ต้องการได้ สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนต่างประเทศและนักวางแผนการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ CFP® จาก Money Adwise ได้ทันที นัดปรึกษาครั้งแรกฟรี!

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้