ผู้เขียน รัฐพล วชิรเมฆากุล CFP®
ในแต่ละปีที่เปลี่ยนไป ย่อมมีเรื่องแปลกใหม่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ซึ่งสำหรับวงการการเงินในปี 2022 นี้ Financial Independence, Retire Early (F.I.R.E.) เป็นอีกหนึ่งคลื่นลูกใหม่ที่ได้ขึ้นมาครองตำแหน่งผู้นำเทรนด์ด้านการบริหารจัดการเงินที่ใคร ๆ ก็อยากลองทำตามมากที่สุด เนื่องจากหลายคนเชื่อว่า การบริหารจัดการเงินแบบ F.I.R.E. นี้อาจเป็นวิธีสร้างอิสรภาพทางการเงินเพื่อการเกษียณให้ได้อย่างรวดเร็วมากกว่าวิธีอื่น ๆ แถมยังทำตามได้ง่าย และสามารถปรับแผนได้ในทุกช่วงอายุ
แต่ก่อนที่จะลองนำไปปรับใช้ หรือ ก้าวเข้าสู่เทรนด์การเงินสุดฮิตนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินจาก Money Adwise อยากขอแนะนำให้ลองพิจารณา 3 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ F.I.R.E. เพื่อประกอบการตัดสินใจและหาความเหมาะสมกับตัวเองดูก่อน แต่จะมีอะไรบ้าง ลองมาทำความรู้จักกับ F.I.R.E. ไปพร้อมกันเลย
Financial Independence, Retire Early หรือ F.I.R.E. จัดเป็นอีกหนึ่ง “เรื่องเก่าเล่าใหม่” ในวงการการเงินที่มีแนวคิดพื้นฐานต่อยอดมาจากหนังสือ Your Money or Your Life ของ 2 นักเขียน นักพูด และที่ปรึกษาทางการเงินอย่าง Vicki Robin และ Joe Dominguez
โดยในหนังสือเล่มดังกล่าว ที่ปรึกษาวางแผนทางการเงินทั้งสองคนได้เสนอแนะเอาไว้ว่า อิสรภาพทางการเงิน หรือ Financial Independence จะเกิดขึ้นได้ด้วยการออมเงินจากการงานประจำ จากนั้นจึงนำเงินออมมาต่อยอดการลงทุน ซึ่งหากทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนผลตอบแทนการลงทุนนั้นเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิต และทำให้เราหลุดพ้นจากการทำงานประจำ พร้อมมีอิสรภาพทางการเงินได้โดยที่ไม่ต้องทำงานอีกต่อไป
ถึงจะดูเป็นแนวคิดเผิน ๆ ที่ใคร ๆ ก็รู้จัก แต่สำหรับในปี 1992 แล้ว แนวคิดทางการเงินแบบ F.I.R.E. เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่สะเทือนวงการการเงินเป็นอย่างมาก และมีผู้เข้าร่วมมากมายจนเกิดเป็น F.I.R.E. Movement ในเวลาต่อมา ซึ่งผู้เข้าร่วมบางส่วนกล่าวว่า F.I.R.E. Movement นี้ช่วยสร้างอิสรภาพทางการเงินได้โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาและความรู้สึกไปกับการทำงานอีกแล้ว
อย่างไรก็ดี เทรนด์การเงินแบบ F.I.R.E. นี้มีจุดโฟกัสใหญ่ ๆ อยู่ที่ “การควบคุมค่าใช้จ่าย” จากการพิจารณา “ความจำเป็น” หมายความว่า หากของชิ้นไหนฟุ่มเฟือยและไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตจริง ๆ คนที่เข้าร่วม F.I.R.E. Movement ก็จะไม่ซื้อ ส่งผลให้มีเงินเก็บจากการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง และสามารถนำเงินนี้ไปลงทุนในจุดอื่น ๆ ต่อได้
สำหรับในปี 2022 นี้ ผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างเริ่มให้ความสำคัญกับการเกษียณอายุให้ได้ในช่วงอายุ 40 - 45 ปี ประกอบกับเริ่มมีแนวคิดต่อต้านวัตถุนิยมและบริโภคนิยมทั้งจากเหตุผลทางสิ่งแวดล้อมและเหตุผลส่วนตัว ด้วยเหตุนี้ F.I.R.E. จึงได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ทางการเงินที่เข้ามาตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินและความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิต
แนวคิดที่มีพื้นฐานมาจากที่ปรึกษาทางการเงินแบบ F.I.R.E. นั้นสามารถเริ่มทำได้ง่าย ๆ ใน 4 ขั้นตอน ซึ่งจะประกอบไปด้วย
สำหรับใครที่อยากเริ่มลองทำตามรูปแบบของ F.I.R.E. อย่างแรกที่ต้องทำ คือ การกำหนดเป้าหมายทางการเงินให้ชัดเจน และต้องตอบให้ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร เช่น ต้องการเกษียณตัวเองจากการทำงานตอนอายุ 40 เพราะอยากมีเวลาไปทำในสิ่งที่ชอบ หรือ อยากมีเวลาให้ครอบครัวโดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการเงิน เป็นต้น
2. ทำรายรับรายจ่าย
เมื่อกำหนดเป้าหมายได้แล้ว ทีนี้ก็มาดูว่าเราจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ในหลังเกษียณบ้าง โดยการคำนวณค่าใช้จ่ายนี้สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการทำรายรับรายจ่ายเพื่อสำรวจพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง จากนั้นเมื่อได้รายการบัญชีรับจ่ายมาทั้งหมดแล้วก็ให้ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและฟุ่มเฟือยออกทั้งหมด โดยการตัดนี้ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นเป็นหลัก จากนั้นเมื่อได้ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อชีวิตจริง ๆ จึงนำมาคำนวณและวางแผนเป็นรายปีต่อไป
3. มองหาการลงทุนแบบ Passive Investment เพื่อสร้าง Passive Income
ศึกษาการลงทุนที่สามารถสร้าง Passive Income และมีการจ่ายผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดพอร์ตกองทุนรวมคุณภาพดี ที่จ่ายปันผล แต่สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงไหวและมีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ ก็สามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์อื่นได้เช่นกัน
4. วางแผนแล้วต้องทำงานด้วย
เมื่อวางแผนค่าใช้จ่ายทั้งหมด และเลือกการลงทุนแบบ Passive Investment ที่เหมาะสมกับตัวเองได้แล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาทำงานและเก็บออมเงิน ซึ่งการออมเงินควรจะออมให้ได้มากกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมดของตัวเอง ซึ่งเมื่อเริ่มมีเงินออมแล้วก็สามารถนำเงินบางส่วนทยอยไปลงทุนเพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินได้ด้วย
จากหลักการทำงานข้างต้น หลายคนคงเริ่มสังเกตเห็นแล้วว่า แท้จริงแล้ว F.I.R.E. นั้นจะเป็นแนวคิดที่เน้นไปที่ “การประหยัด” เพื่อพิชิตเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ แต่อย่างไรก็ดี การรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องอดมื้อกินมื้อเพื่ออิสรภาพทางการเงินเพียงอย่างเดียว เพราะ การทำ F.I.R.E. ยังแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ซึ่งจะประกอบไปด้วย
1. Lean F.I.R.E.
เป็นการทำ F.I.R.E. ที่สุดโต่ง ตัดทุกค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกทั้งหมด ทำให้มีเงินออมมากขึ้นจากค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก ๆ อย่างไรก็ดี การทำ Lean ก็อาจทำให้หลายคนตบะแตกได้ง่าย และเครียดกับการเงินของตัวเองมากกว่าคนอื่นทั่วไป
2. Fat F.I.R.E.
คือ การทำ F.I.R.E. ที่รัดเข็มขัดน้อยกว่ากลุ่ม Lean หรือเป็นกลุ่มคนที่มีการซื้อ #ของที่ดีต่อใจ และ #ของมันต้องมี บ้าง ดังนั้น กลุ่มคนเหล่านี้จึงต้องทำงานและวางแผนค่าใช้จ่ายดี ๆ เพื่อไม่ให้เงินออมร่อยหรอลงไปจนผิดวัตถุประสงค์ของการทำ F.I.R.E.
3. Barista F.I.R.E.
แบ่งออกเป็น 2 สาย คือ คนที่เป็น Lean หรือ Fat F.I.R.E. มาก่อน และตอนนี้เริ่มมีรายได้ที่มาจากการลงทุนที่พอดีกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ตั้งไว้ หรือเป็นคนที่มีเงินเก็บอยู่แล้ว และต้องการลาออกจากงานประจำเพื่อเกษียณตัวเอง จึงนำเงินเก็บบางส่วนมาเริ่มลงทุน แต่คนที่เป็น Barista F.I.R.E. นี้ยังคงต้องหาทางเพิ่มรายได้ เพราะในบางครั้ง ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนก็อาจยังไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย
4. Coast F.I.R.E.
อาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่ทำ F.I.R.E. สำเร็จก็ว่าได้ โดยคนกลุ่มนี้จะเป็นคนที่มีเงินออมเพียงพอทั้งต่อการใช้ชีวิตและสามารถต่อยอดเงินไปกับการลงทุนเพื่อสร้าง Passive Income ต่อเนื่องได้ ทำให้สามารถพิชิตเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเกษียณตัวเองจากการทำงานได้อย่างที่ตั้งใจ
Financial Independence, Retire Early (F.I.R.E.) เป็นวิธีบริหารจัดการเงินที่ต้องอาศัยวินัยทางการเงินที่สูงมาก และกว่าจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนอาจใช้เวลานานกว่า 10 ปี ซึ่งปัจจัยนี้อาจส่งผลทำให้เกิดความเครียดตามมาได้ ด้วยเหตุนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินหลายคนจึงแนะนำให้เลือก F.I.R.E. แต่พอดีเพื่อป้องกันปัญหาความเครียดทางการเงินสะสม เช่น แทนที่จะตัดค่าใช้จ่ายออกไปทั้งหมดเพื่อทำ Lean F.I.R.E. เราอาจหันมาทำ Fat F.I.R.E. เพื่อเป็นการมอบรางวัลเล็ก ๆ ให้กับตัวเองในบางเวลา และเพื่อเป็นการไม่ละทิ้งไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ปรึกษาวางแผนทางการเงินจำนวนมากยังแนะนำอีกว่า การทำ F.I.R.E. ยังต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามมา เช่น ค่ารักษาพยาบาล การเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงปัญหาชีวิตด้านอื่น ๆ เช่น การหย่าร้าง และ การซื้อขายที่อยู่อาศัย ดังนั้น คนที่ทำ F.I.R.E. ยังอาจต้องวางแผนทางการเงิน “เผื่อ” เหตุการณ์ไม่คาดฝันต่าง ๆ ด้วย
ที่สำคัญ การทำ F.I.R.E. ยังเน้นไปที่การออมเงินและการลงทุนแบบ Passive Income เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ดี ที่ปรึกษาทางการเงินจำนวนไม่น้อยต่างให้ความเห็นว่า ถึงแม้การออมเงินจะทำให้ดอกเบี้ยงอกเงยไปเรื่อย ๆ แต่อย่าลืมว่าอัตราดอกเบี้ยนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจเช่นกัน นอกจากนี้ ผลตอบแทนจากการลงทุนยังขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและการบริหารจัดการพอร์ตร่วมด้วย ดังนั้น ผู้ที่ทำ F.I.R.E. ยังต้องวางแผนและพิจารณาถึงปัจจัยความเสี่ยงเหล่านี้ร่วมด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 4 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ Financial Independence, Retire Early (F.I.R.E.) หวังว่าบทความที่เรานำมาฝาก จะช่วยทำให้ทุกคนได้เข้าใจและรู้จักกับเทรนด์การเงินยอดนิยมอย่าง F.I.R.E. มากขึ้น ซึ่งสำหรับใครที่เริ่มรู้สึกว่าอยากลองทำ F.I.R.E. แต่ไม่รู้ว่าแผนการเงินแบบไหนจะเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด Money Adwise มาพร้อมกับที่ปรึกษาวางแผนทางการเงินคุณวุฒิ CFP ที่จะมาช่วยคุณวางแผนการเงินให้เข้ากับ F.I.R.E. ที่สามารถตอบโจทย์กับเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการได้ในเวลาที่น้อยกว่า และให้ผลตอบแทนมากกว่าด้วยการลงทุนที่สอดคล้องกับความต้องการ เงินลงทุน และระยะเวลาที่เหมาะสม* คลิกเพื่อนัดปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงิน Money Adwise ครั้งแรกฟรี
*ไม่ใช่การการันตี