ผู้เขียน จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ CFP®
จากวิกฤต COVID-19 ที่กระทบไปทั่วโลก ตลาดการลงทุนผันผวนมาก หลายท่านคงกำลังมองหาวิธีจัดพอร์ตแบบที่เหมาะกับทุกสภาวะตลาด ได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว แต่ก็ไม่พลาดเรื่องบริหารความเสี่ยง และโอกาสในการทำกำไรช่วงกลาง-สั้นด้วย การจัดพอร์ตแบบนี้เรียกว่า Core and Satellite ซึ่งวิธีการนี้ได้รับความนิยมมานานแล้วทั้งจากนักลงทุนสถาบันใน และต่างประเทศ นักลงทุนรายย่อยก็สามารถประยุกต์ใช้ได้เอง ไม่ยากจนเกินไป
การจัดพอร์ตแบบ Core and Satellite คือการแบ่งพอร์ตเป็น 2 ส่วน คือส่วนหลัก (Core) และส่วนเสริม (Satellite) โดยที่แบ่งเงินลงทุนในส่วนหลักประมาณ 65-85% ส่วนเสริมประมาณ 15-35% โดยที่ไม่ได้มีกฎตายตัวว่าส่วนหลัก และส่วนเสริมต้องลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด ขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางการเงิน และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละคน เพราะฉะนั้นสินทรัพย์ลงทุนในส่วนหลักของบางคนอาจจะอยู่ในส่วนเสริมของอีกคนก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุน A เป็นคนที่ต้องการผลตอบแทนสูง และรับความเสี่ยงได้สูง ควรจะลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่นหุ้นในประเทศ และหุ้นต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ในส่วนหลัก และควรลงทุนในตราสารหนี้ และทองคำในส่วนเสริมเพื่อบริหารความเสี่ยง ในทางกลับกันนักลงทุน B เป็นคนที่ต้องการผลตอบแทนที่ต่ำกว่า และรับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรลงทุนตราสารหนี้ในส่วนหลัก และหุ้นหรือสินทรัพย์เพื่อเก็งกำไรในช่วงสั้นอยู่ในส่วนเสริม
การจัดพอร์ตส่วนหลักจะเน้นไปที่เป้าหมายการลงทุนในระยะยาว และการกระจายความเสี่ยง ลงทุนนิยมลงทุนในกองทุนดัชนี (Index Fund) ที่ลงทุนในตลาดที่ตนเองสนใจ เช่น S&P500, และSET50 เนื่องจากช่วยประหยัดต้นทุน ลดความเสี่ยงตลาด (Market Risk) และให้ผลตอบแทนเทียบเคียงตลาดในระยะยาว หรือจะเลือกจัดพอร์ตโดยลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนสินทรัพย์หลากหลายทั่วโลก (Global Asset Allocation) ก็น่าสนใจ สำหรับการดูแลพอร์ตส่วนนี้จะเป็นการบริหารแบบ Passive เน้นการ Buy and Hold และความถี่ในการปรับสัดส่วนพอร์ต (Rebalance) และการซื้อขาย (Portfolio Turnover) ต่ำ
ส่วนพอร์ตส่วนเสริมมักจะเน้นการหาผลตอบแทนที่ดีกว่าพอร์ตส่วนหลักในระยะกลาง-สั้น นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กองทุนประเภท Active Fund, หุ้นกลาง-เล็ก, REITsต่างประเทศ, กองทุนตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง, Thematic Fund และ Sector Fund ใช้การจับจังหวะเวลาซื้อขาย เข้าออกตามโอกาส
เมื่อลงทุนไปสักระยะหนึ่งแล้ว นักลงทุนควรปรับสัดส่วนการลงทุน (Rebalance) ทั้งสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตหลัก และสัดส่วนระหว่างพอร์ตหลัก และพอร์ตเสริม การปรับสัดส่วนในพอร์ตหลักจะช่วยให้ระดับความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงที่หุ้นขึ้นมาก ๆ ถ้าพอร์ตหลักมีทั้งหุ้น และตราสารหนี้สัดส่วนของหุ้นจะมากเกินกว่าที่วางแผนไว้ ควรขายทำกำไรจากหุ้น และนำไปซื้อตราสารหนี้เพื่อคงสัดส่วนตั้งต้น ส่วนพอร์ตเสริมในบางเวลาอาจทำผลตอบแทนได้ดีจนสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกินกว่าสัดส่วนตั้งต้น ก็ควรขายทำกำไร และนำเงินกลับไปลงทุนในพอร์ตส่วนหลัก เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว
ข้อดีหลักๆของการจัดพอร์ตแบบ Core and Satellite คือการที่นักลงทุนได้ลงทุนในระยะยาวแต่ก็ไม่พลาดโอกาสทำกำไรในระยะสั้น เป็นการผสมผสานระหว่างการลงทุนแบบ Active และ Passive การบริหารแบบนี้เพิ่มความเป็นไปได้ที่จะได้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนในพอร์ตหลักตามตลาดอย่างเดียว และลดความเสี่ยงถ้าเทียบกับคนที่ลงทุนแบบเก็งกำไรอย่างเดียว
ถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่มองหาการจัดพอร์ตในระยะยาว แต่ก็ยังอยากเก็งกำไรในช่วงสั้นด้วย ลองออกแบบพอร์ต Core and Satellite ของคุณดู วิธีนี้อาจตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนของคุณได้
ประเด็นสำคัญคือ เมื่อคุณออกแบบพอร์ต Core and Satellite ของคุณแล้ว ควรติดตามพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากพอร์ตส่วนเสริม บริหารพอร์ตแบบ Active ทุกการตัดสินใจย่อมส่งผลกระทบต่อพอร์ตรวม หากวัดผลแล้วการทำพอร์ตส่วนเสริม ทำให้ผลตอบแทนลดลง หรือความผันผวนเพิ่มขึ้น อาจพิจารณาคงเฉพาะพอร์ตส่วนหลัก แล้วทบทวนกลยุทธ์การทำพอร์ตส่วนเสริมเพื่อความเหมาะสม
สำหรับผู้เริ่มต้นควรเริ่มจากการลงทุนในพอร์ตส่วนหลักอย่างเดียวก่อน เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสภาวะตลาด ได้ฝึกปรับสัดส่วนการลงทุน และติดตามผลการดำเนินการ ถึงแม้การทำพอร์ต Core and Satellite จะไม่ยากจนเกินไปที่จะทำเอง ในช่วงแรกของการทำพอร์ตควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โดยคุณสามารถติดต่อขอรับบริการจากนักวางแผนการเงินCFPได้ ที่นี่